24 กรกฎาคม 2016
กันดั้มศึกษา ตอนที่ 16
พลาโมเดล (ที่รู้จักกันในนาม "กันพลา") พาร์ต 2
บทเรียนที่ 14 : เพลงประกอบของโมบิลสูทกันดั้ม ตอนที่ 2
บทเรียนที่ 15 : วิถีแห่งกันพลา ตอนที่ 1
“กันพลา” พยายามทวงคืนความเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมพลาสติกโมเดล หลังจากที่ผลิตมา 30 กว่าปี
บทที่แล้วพูดถึงเส้นทางที่กันพลาเกิดขึ้นมา วันนี้ เราจะมาดูกันว่าอุตสาหกรรมนี้มันเติบโตขึ้นได้ยังไง
บทที่ 1 อะไรคือจุดเด่นของกันพลา? วิวัฒนาการด้านวิศวกรรมไงล่ะ!
6 เดือนหลังจาก โมบิลสูทกันดั้มออกอากาศจบแล้ว ในเดือนกรกฎาคม ปี 1980 (2523) โมเดลคิทชุดแรก (สเกล 1/144) ก็วางจำหน่ายซึ่งในสมัยนั้นจัดว่าเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่มากๆ และไม่มีคู่แข่งโดยสมบูรณ์ แน่นอน มันขายดีเป็นเทน้ำเทท่าไปทั่วประเทศ ถ้านึกไม่ออกว่ามันดังแค่ไหน ลองจินตนาการถึงหน้าหนังสือพิมพ์ที่มีแต่รายงานข่าวกันพลาเต็มไปหมดดูสิ มันเคยเกิดขึ้นแล้วจริงๆ
กุญแจสำคัญที่ทำให้กันพลาได้รับความนิยมอย่าล้นหลามอย่างหนึ่งก็คือนวัตกรรมที่ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา และคำนึงถึงความเป็นไซไฟเป็นสำคัญ รวมทั้งการเข้าสเกลที่เป็นไปตามมาตราส่วนจริง และความสมเหตุสมผลของราคาที่ 300 เยน เท่านั้น เสียงตอบรับของแฟนๆ ที่ดังสนั่นเป็นพลุแตกนี้ ส่งผลให้ โมบิลสูทกันดั้ม ถูกนำกลับมาฉายซ้ำอีกครั้งเพื่อช่วยในการโปรโมทกันพลา
และนั่นคือคิทชุดแรกในสเกล 1/144 ที่ปูทางแห่งความสำเร็จไว้ให้ กันดั้ม RX-78 ในสเกล 1/100, 1/60 และกันพลาตัวอื่นๆ ต่อไป ซึ่งไม่เพียงแต่กันดั้มเท่านั้น แม้แต่ โมบิลสูทฝั่งซีออน, โมบิลอาร์เมอร์ และยานรบต่างๆ ก็ถูกนำมาทำเป็นกันพลาอีกด้วยในปี 1990 (2533) กันพลาก็ยังคงเป็นธุรกิจที่แข็งแรงต่อไป แต่ก็เริ่มถูกคู่แข่งกรายๆ อย่าง Mini 4wd เข้ามาเอาส่วนแบ่งการตลาดไป ซึ่งนั่นทำให้ต้องออกซีรีย์ "HG" (High Grade) มาแก้เกม
"Gundam RX-78 HG 1/144" ออกมาสู่สายตาประชาชนในโปรเจคครบรอบ 10 ปีของกันพลา ในราคา 1,000 เยน หรือราวๆ 180 บาทไทยในสมัยนั้น (1,050 เยนรวมภาษี) เมื่อเทียบกับของเดิมแล้ว ซีรีย์นี้มีรายละเอียดที่เยอะและคมกว่าสเกล 1 : 144 เดิม อีกทั้งยังมีชิ้นส่วนที่หลากหลายอีกด้วย ซีรีย์ HG นี้นับได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในประวัติศาสตร์กันพลาเลยทีเดียว
กล่าวคือ กันพลาเป็นพลาสติกโมเดลที่แทบจะไม่ต้องใช้กาวในการประกอบ และยังสามารถประกอบเข้ากันได้พอดีอีกด้วย (snap-fit)
และอีก 5 ปีต่อมา ในเดือนกรกฏาคม ปี 1995 (2538) ก็ออก MG 1/100 RX-78 Gundam ที่ราคา 2,500 เยน หรือราวๆ 580 บาทไทย (2,625 เยนรวมภาษี) เนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปีของกันพลา
ไลน์ของ MG (Master Grade) นี้มีมาตราส่วนที่ 1:100 ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า HG อีกทั้งยังมีรายละเอียดและชิ้นส่วนที่ซับซ้อนกว่า เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ใหญ่ และนักต่อกันพลามืออาชีพ
แม้ว่าชิ้นส่วนเล็กๆ มากมายนี้จะต้องใช้เวลาในการผลิตค่อนข้างนาน แต่มันก็เป็นไปเพื่อความสามารถในการขยับและโพสท่าได้มากขึ้น ซึ่งนับว่าคุ้มค่าไม่น้อย ยกตัวอย่างเช่น ชิ้นส่วนของมือในไลน์ HG นั้นต้องเปลี่ยนมือทั้งชิ้น เพื่อที่จะเปลี่ยนท่าวางมือ (กำมือ, กรีดนิ้ว, ฯลฯ) แต่สำหรับ MG ข้อนิ้วสามารถพับงอได้อิสระ จึงไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนชิ้นส่วนอะไร
บางรุ่นก็มีของเซอร์ไพรซ์เช่น MG WD-M1 ∀ Gundam นอกจากจะมีฟิกเกอร์นักบิน (Loran Cehack) แถมมาแล้ว ยังมีฟิกเกอร์ “วัว” (ใช่แล้ว ที่ร้อง มอ มอ นั่นแหละ!) มาให้อีกด้วย
ต่อจาก MG ก็เป็น PG 1/60 RX-78-2 Gundam ที่ราคา 12,000 เยน หรือราวๆ 4,150 บาทไทยในสมัยนั้น (12,600 เยนรวมภาษี)
PG (Perfect Grade) เกิดขึ้นในโอกาสครบรอบ 20 ปี และเริ่มเข้ากระบวนการผลิตในเดือน พฤศจิกายน ปี 1998 (2541) และมันคือสุดยอดแห่งไลน์กันพลาทุกเกรดที่กล่าวมา แน่นอนว่าราคาที่สูงขนาดนี้ไม่ใช่ของเด็กเล่นแน่ๆ มันมาพร้อมขนาดที่ใหญ่โต, รายละเอียดชิ้นส่วนและกลไกที่สมจริงสุดๆ ไม่ต่ำกว่า 1,000 ชิ้น และเนื้อพลาสติกที่มีคุณภาพสูง พร้อมด้วยป้ายกำหนดเรทว่า เหมาะสำหรับเด็กอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี
ความพิเศษของกันพลาเกรดนี้ นอกจากที่กล่าวมา ยังมีเรื่องของวัสดุ และฟีเจอร์ต่างๆ ซึ่งบางรุ่นใช้โลหะประเภทไดแคสท์ (Dicast) เป็นส่วนประกอบ และมีดวงไฟ LED สำหรับตกแต่งชิ้นส่วนที่โปร่งใสอีกด้วยบทที่ 2 อะไรคือจุดเด่นของกันพลา? ให้ความสำคัญกับการขึ้นรูปของโมเดลในอนาคต
แม้ว่าแบรนด์ต่างๆ จะพยายามเข็นไลน์ HG อื่นๆ ออกมา แต่ก็ไม่มีไลน์ไหนจะโดดเด่นไปกว่าซีรีย์ HGUC (HG Universal Century) ซึ่งเริ่มวางจำหน่ายเมื่อเดือน พฤษภาคม 2001 (2544) แน่นอนว่าตัวแรกของไลน์ผลิตคือ HGUC 1/144 RX-78-2 Gundam ที่ราคา 1,000 เยน หรือประมาณ 330 บาทในเวลานั้น* (1,050 เยนรวมภาษีแล้ว)
กันพลาในไลน์ HGUC นี้ได้ปรับปรุงจาก HG 1/144 ให้มีรูปทรงที่สมส่วนขึ้นและมีความคมชัดของรายละเอียดเพิ่มขึ้น ด้วยเทคโนโลยีที่คิดค้นขึ้นใหม่
และแม้ว่าสเกล 1/144 จะเป็นสเกลที่เล็กจิ๋วที่สุดในกันพลาทุกเกรด (ราวๆ 12-13 ซม.) แต่ก็มีบางตัวที่สูงได้ถึง 28 ซม.อย่าง HGUC Psyco Gundam 1/144 (ราคาก็ใหญ่ตามไปด้วยที่ 5,000 เยน) และตัวที่ยาวเกือบเมตรอย่าง GP-03 Dendrobium (30,000 เยน) อีกด้วย
จากนั้นไลน์ HGUC ก็กลายเป็นรากฐานให้กับกันพลารุ่นหลังๆ ที่ตามมา และกลายเป็น กันพลามาตรฐาน ของนักต่อกันพลาตั้งแต่มือใหม่ถึงมืออาชีพนับจากนั้นมา
ไลน์เฉพาะกิจ อย่างเช่น HG 1/144 RX-78-2 Gundam Ver. G30th ที่ออกมาเมื่อเดือน กรกฏาคม 2009 ในราคา 1,200 เยน เพื่อฉลองครบรอบ 30 ปี ของกันพลา นอกจากจะใช้ต้นแบบของ HGUC RX-78-2 แล้ว ก็ยังมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดโครงสร้างต่างๆ เป็นพิเศษเพื่อให้เป็นแบบสำหรับ กันดั้มสเกล 1/1 ที่จะถูกสร้างขึ้นในเวลาต่อมา
ต่อมาก็เป็น 1/48 Mega Size Model Gundam วางจำหน่ายเมื่อเดือน มีนาคม 2012 ที่ราคา 7,800 เยน ด้วยความสูงถึง 37.5 ซม. ที่สเกล 1 : 48 และด้วยขนาดใหญ่โตเช่นนี้ ข้อต่อปกติที่ใช้กับ HG คงจะเอาไม่อยู่ จึงต้องออกแบบข้อต่อแบบใหม่ที่มีความแน่นหนากว่าเดิม ในขนาดที่แม้ว่าจะยกโล่ขนาดใหญ่แขนก็ไม่มีตก “runner lock” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีข้อต่อแบบใหม่นี้ยังช่วยให้ประกอบได้ง่ายและเร็วขึ้นอีกด้วย
และล่าสุดนี้ เทคโนโลยีได้นำพาเราไปสู่ความสมจริงยิ่งยวด ซึ่งก็คือไลน์ RG (Real Grade) นั่นเองRG 1/144 RX-78-2 Gundam วางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อเดือน กรกฏาคม ปี 2010 ที่ราคา 2500 เยน หรือประมาณ 850 บาทไทยในเวลานั้น โดยกลับไปตัวเล็กจิ๋วในสเกล 1/144 ซึ่งเป็นสเกลเดียวกับ HG เหมือนเดิม แต่กันพลาไลน์นี้ อัดแน่นไปด้วยรายละเอียดและชิ้นส่วนจำนวนมาก แม้แต่นิ้วมือยังขยับได้เลย! สามารถขยับปรับท่าได้โพส แม้แต่การแยกชิ้นส่วน Core Fighter ออกมาแล้วแปลงเป็นยานก็ยังได้ นอกจากนี้ก็ยังมีชิ้นส่วนที่แยกสีชัดเจน แถมมีโครงหุ่นอีกด้วย เรียกได้ว่ามันคือ Master Grade แบบย่อส่วนเลยทีเดียว
ส่วนกันดั้มที่โอไดบะ ถือเป็น RG ในสเกล 1/1 อย่างเป็นทางการ (ราคา : ไม่ทราบ และคงไม่ได้ขาย)
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีกันพลาอีกเป็นจำนวนมากที่ผู้เขียนสาธยายได้ไม่หมด ถ้าอยากรู้ละเอียดกว่านี้ ลองมาดูด้วยตาดัวเองที่ Gundam Front Tokyo สิ
เอาล่ะนี่คือทั้งหมดสำหรับสัปดาห์นี้ สัปดาห์หน้าเตรียมตัวให้ดี เรายังคงมีข้อมูลสุดเบสิคมาเสิร์ฟให้คุณต่ออย่างไม่ลดละ
[ประวัติผู้เขียน]
Ema Baba
นักเขียนบทจอมป่วน
ที่พยายามเพิ่มพูนความรู้อยู่ทุกวันเพื่อสอนให้คุณรู้จักกับความสนุกของกันดั้ม
อันดับ
โพสต์แนะนำ
อนุญาต Cookie เพื่อดูหัวข้อแนะนำสำหรับคุณ