10 กรกฎาคม 2016
กันดั้มศึกษา ตอนที่ 14
เพลงประกอบ (ซีรีส์ทางโทรทัศน์) พาร์ต 2
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว กันดั้มเป็นที่นิยมทั้งใน ญี่ปุ่นและทั่วโลกมาเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว ซึ่งหนึ่งในขุมสมบัติอันล้ำค่าของมันนั้นก็คือ เพลงตีม ที่มีอยู่ในทุกซีรีย์นั่นเอง
ในตอนที่ 14 นี้เราจะมาคุยกันต่อ ถึงเพลงตีมที่เคยเป็นที่นิยมในอดีต ผ่านมุมมองของกันดั้มอนิเมซีรีย์ ณ บัดนี้
บทที่ 1
อะไรคือเอกลักษณ์ของกันดั้ม? เพลงที่แต่งขึ้นโดยศิลปินยอดนิยมในแต่ละยุค
มาเริ่มภาค 2 กันต่อ ด้วย โมบิลสูทกันดั้ม วิง ปี 1995 (2538) ในเพลง Just Communication
เพลงแทรคนี้แตกต่างไปจากเพลงตีมของกันดั้มซีรีย์ก่อนๆ ด้วยการใช้เสียงจากเครื่องดนตรีสังเคราะห์ มีโทนเพลงที่เร้าใจ ชวนให้อยากลุกขึ้นมาเต้น ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นแนวเพลงที่ช้อกวงการเพลงของกันดั้ม มันยังทำให้แฟนอนิเมทั่วไปตื่นตะลึงอีกด้วย
เพลงนี้เป็นเพลงของวง TWO-MIX ขับร้องโดย มินามิ ทาคายามา (Minimi Takayama) ซึ่งเป็นนักพากย์ และ ชีนะ นากาโน (Shiina Nagano) เป็นผู้แต่งเนื้อร้อง(ทั้งสองคนตั้งวงนี้ขึ้นมาเป็นวงดูโอ)
วง TWO-MIX เป็นวงดนตรีปกติมากกว่าจะเป็นวงดนตรีสำหรับอนิเม (วงการเพลงของญี่ปุ่นแยกเพลงที่แต่งเพื่ออนิเม ไว้อีกกลุ่ม ไม่เอาไปรวมกับดนตรีที่แต่งปกติ) โดยคอนเซปแรกเริ่มนั้นพวกเขาเป็นนักดนตรีวิชวล ที่ทำผลงานเพลงอยู่เบื้องหลังเสียเป็นส่วนมาก แต่ยังไงก็ดี ซิงเกิลแรกที่ออกมานั้นถึงกับสั่นสะเทือนชาร์ตเพลงของญี่ปุ่นมากทีเดียว จากนั้นมามันก็ไม่ได้เป็นเพียงแค่เพลงเปิดของกันดั้มเท่านั้น แต่เป็นเพลงฮิตติดชาร์ตของปี 1995 เลยทีเดียวต่อมาคือเพลง Dreams ในปี 1996 (2539) เพลงเปิดของ After War Gundam X
เป็นเพลงจากวง ROmantic Mode ซึ่งมีนักร้องสมทบคือ อากิระ อาสะคุระ (Akira Asakura) และ มาซาคิ ซูซุคาวา (Masaki Suzukawa) เป็นมือกีต้าร์, แต่งและเรียบเรียงโดย โจ ริโนเอะ (Joe Rinoie) ที่เป็นทั้งมือคีย์บอร์ดและนักร้องประสาน แถมยังเป็นโปรดิวเซอร์เข้าไปอีก นับว่า ริโนเอะคนนี้ เป็นบุคคลที่มากพรสวรรค์จริงๆ
และเช่นเดียวกันกับวง TWO-MIX วง ROmantic Mode เดบิวเพลงแรกด้วยเพลงตีมของกันดั้ม แต่ก็เป็นวงแรกที่ได้อัดเสียงและออกอากาศเป็นระบบสเตอริโอ ซึ่งระบบเสียงใหม่ในยุคนั้นก็ได้สร้างความสนใจและดันให้วงนี้ขึ้นไปอยู่ในชาร์ตอันดับต้นๆ
เพลงนี้มีจังหวะทำนองที่ตื่นเต้นเร้าใจ และเนื้อหาที่แน่นปึ้ก ทำให้มันไม่ได้เป็นเพียงแค่แทรคฮิตติดหูเท่านั้น แต่เป็นตัวอย่างที่ดีในการแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของเพลงตีมกันดั้มที่มีในวงการเพลง
ต่อไปที่เพลง Turn A Turn, เพลงเปิดของเทิร์นเอกันดั้มจากปี 1999 (2542)
แน่นอนว่าเป็นเพลงที่ลืมไม่ลงที่สุดในเพลงตีมกันดั้ม เนื้อเพลงเขียนโดย ริน อิโอกิ (Rin Iogi) (ผู้กำกับโทมิโนะเป็นผู้ให้แรงบันดาลใจ) ด้วยการแต่งดนตรีโดย อาเซอิ โคบายาชิ (Asei Kobayashi) และเรียบเรียงโดย ทาดาชิ ยาตาเบะ (Tadashi Yatabe) และขับร้องโดย ฮิเดคิ ไซโจ (Hideki Saijo) ซึ่งเป็นหนึ่งใน 3 ของนักร้องไอดอลที่ดังที่สุดในยุค 70
เพลงนี้ไม่เพียงแต่มีการขับร้องที่ยอดเยี่ยมไร้ที่ติ แต่ยังสร้างความประหลาดใจด้วยการใช้เสียงร้องแบบ คูมี* (Khöömii) ของชาวมองโกลในตอนเริ่มต้นและตอนท้ายของเพลง ประสานกับเสียงขลุ่ยชาคุฮาชิของญี่ปุ่น, เสียงโซโลกีต้าร์ที่บาดอารมณ์, เสียงร้องประสาน และ เพลงออร์เคสตร้า ทั้งหมดนี้สร้างความรู้สึกของดนตรีที่มีความเป็นสากลอย่างแท้จริง
เสียงร้องแบบคูมีที่ว่านี้ ขับร้องโดย โคอิชิ มาคิกามิ (Koichi Makigami) นักร้องที่เป็นที่นิยมในระดับสากล เป็นหัวหน้าวงดนตรีใต้ดินแนวเทคโนป๊อปที่กำลังเป็นที่นิยมในตอนนั้น วง ฮิกะชู (Hikashu) ซึ่งจะเห็นได้ว่า ทุกคนที่ทำงานเพลงให้กันดั้มล้วนแต่เป็นผู้ที่มีความรู้ด้านดนตรีทั้งสิ้น
เทิร์นเอกันดั้ม เป็นอนิเมที่สร้างขึ้นเพื่อฉลองครบรอบ 20 ปีของซีรีย์กันดั้ม และยอมให้ผู้กำกับโทมิโนะได้กำหนดทิศทางของดนตรีประกอบอนิเมได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเขาก็ได้เลือกเอานักดนตรีที่อยู่เหนือความคาดหมายของทุกคน ประกอบกับนักประพันธ์เพลงที่มีท่วงทำนองอันสุขุมลุ่มลึกอย่างไซโจ ที่นำเอาเสียงที่เป็นธรรมชาติทั้งหลาย มาประสานรวมกันจนสามารถสร้างความรู้สึกที่แรงกล้าในตัวของมันเอง
ต่อมา เรามีเพลงเปิดอีก 2 เพลงของโมบิลสูทกันดั้ม ซีด ในเพลง Invoke ปี 2002 (2545) และโมบิลสูทกันดั้ม ซีด เดสทินี ในเพลง Ignited ปี 2004 (2547)
ทั้งสองเพลงแต่งโดย T.M.Revolution เป็นโปรเจคฉายเดี่ยวของ ทาคาโนริ นิชิคาวา (Nakanori Nishikawa) เขาเป็นที่ยอมรับในการสร้างอารมณ์และความทรงพลังให้กับเพลง ผู้ที่ฟังแทบจะสามารถรู้สึกได้ถึงความรุนแรงของพายุไต้ฝุ่นเลยทีเดียว
เพลง Invoke ซึ่งเป็นซิงเกิลที่ 17 ของวง T.M.Revolution และสามารถขึ้นไปอยู่อันดับที่ 2 ของชาร์ตได้
นอกจากนี้เขายังพากย์เป็น มิเกล ไอมาน (Miguel Aiman) ในอนิเม โมบิลสูทกันดั้ม ซีด อีกด้วย
ซึ่งเป็นนักร้องคนแรกในซีรีย์กันดั้ม ที่ได้พากย์เป็นตัวละครในเรื่อง และภาคโมบิลสูทกันดั้ม ซีด เดสทินี เขายังได้รับบทพากย์เป็น ไฮเน เวสเทนฟลัส (Heine Westenfluss) อีกด้วย
เพลง Ignited ซึ่งเป็นเพลงเปิดของโมบิลสูทกันดั้ม ซีด เดสทินี เป็นซิงเกิลที่ 20 และขึ้นเป็นอันดับ 1 ในชาร์ตได้ในที่สุด
ที่จริงแล้ว เพลงตีมของเฟิร์สกันดั้มก็เคยติดทอปชาร์ตประจำสัปดาห์อยู่เหมือนกัน
ทั้งสองเพลงนี้ จึงกลายเป็นเพลงเปิดความยาว 90 นาทีที่ชวนตกตะลึงที่สุดเท่าที่เคยมีมา
แม้ว่าเพลงอนิเมจะถูกมองว่าเป็นอะไรที่เฉพาะทาง แต่สำหรับสองเพลงนี้คือการตอกย้ำชัดเจนว่ามันสามารถเป็น “เพลงฮิตติดชาร์ตที่คนทั่วไปยอมรับแม้จะเป็นเพลงของการ์ตูนกันดั้มก็ตาม”
ด้วยความที่นิชิคาวาเป็นแฟนตัวจริงของอนิเมและมังงะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งซีรีย์กันดั้ม
ดังนั้นมันจึงมีส่วนผสมของความเป็นดนตรีดิจิตอลและเสียงที่คมชัดได้อย่างลงตัวสุดๆ ต้องขอบคุณซาวด์โปรดิวเซอร์ และ สมาชิกโปรเจค T.M.R. ไดสุเกะ อาซาคุระ (Daisuke Asakura) ที่ใส่อารมณ์และความหนักแน่นลงไปในดนตรีจนทำให้มันขึ้นไปอยู่ในอันดับต้นๆ ของกันดั้มในยุคมิลเลเนียม
จากเพลงตีมของ ซีรีย์ SDGF (Superior Defender Gundam Force) กลายเป็นเพลงตีมของ Sunrise ในปี 2004 อนิเมชุดนี้สร้างขึ้นเพื่อฉลองครบรอบ 10 ปี ของทีวีซีรีย์ และ 25 ปีที่กันดั้มเป็นที่รู้จัก ซึ่งเป็นกันดั้มซีรีย์แรกที่ผลิตเป็น 3DCG ทั้งเรื่อง ออกอากาศทางทีวีญี่ปุ่นและอเมริกา แม้ว่าตอนที่กลับมาดูในปัจจุบันแล้วมันจะดูแปลกๆ แต่ก็เป็นที่ฮือฮามากทีเดียวในสมัยนั้น นอกจากนี้ยังเป็นซีรีย์แรกที่ออกอากาศทางทีวีดิจิตอล เพลงเปิดร้องโดยวงดูโอสาวชาวญี่ปุ่นที่ดังไกลถึงอเมริกา Puffy AmiYumi (เราอาจเคยเห็นพวกเธอในรูปแบบคาแรคเตอร์การ์ตูนเรื่องหนึ่ง) แต่น่าเสียดายที่เพลงเปิดนี้มีเฉพาะเวอร์ชั่นญี่ปุ่นเท่านั้น ฝั่งอเมริกาก็ได้แต่นอนฟังออเคสตร้ากันไป
และสุดท้ายที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยนั่นคือ เพลง Daybreak’s Bell จากเรื่องโมบิลสูทกันดั้ม ดับเบิ้ลโอ ที่ฉายในปี 2007 (2550) ขับร้องโดยวงยอดนิยมตลอดกาลอย่าง L’Arc En Ciel จึงไม่แปลกใจเลยที่ซิงเกิ้ลนี้พุ่งขึ้นไปอันดับ 1 ของชาร์ตแทบจะในทันที และไม่เพียงเท่านั้น ซีรีย์ของโมบิลสูทกันดั้ม ดับเบิ้ลโอ ก็ยังเป็นเป็นอนิเมที่ขายดีที่สุดในปี 2007 อีกด้วย
เพลง Daybreak’s Bell เป็นเพลงที่บอกเล่าถึงสงครามและการปฏิเสธความรุนแรงได้อย่างละเมียดละไม และมีพลังอยู่ในตัวของมันเอง ซึ่งเป็นตีมหลักของโมบิลสูทกันดั้มซีรีย์นี้ หากมีโอกาสลองหามาฟังกันดูนะ!
และนี่คือทั้งหมดของสัปดาห์นี้ หากว่าพื้นที่หน่วยความจำของคุณยังไม่เต็มเสียก่อน สัปดาห์หน้าเราจะมาพูดถึงเนื้อหาที่สุดแสนจะเบสิกแต่จำเป็นสำหรับแฟนกันดั้มต่อไป ติดตามอ่านให้ได้ล่ะ!
*เสียงร้องแบบ คูมี (Khöömii) คือเทคนิคการเปล่งเสียงออกมาจากปอดผ่านลำคอโดยตรงทำให้เกิดโทนเสียงที่แหลมสูง เป็นที่นิยมในวัฒนธรรมมองโกล
[ประวัติผู้เขียน]
Ema Baba
นักเขียนบทจอมป่วน
ที่พยายามเพิ่มพูนความรู้อยู่ทุกวันเพื่อสอนให้คุณรู้จักกับความสนุกของกันดั้ม
อันดับ
โพสต์แนะนำ
อนุญาต Cookie เพื่อดูหัวข้อแนะนำสำหรับคุณ